ดนตรีพื้นบ้านภาคอีสาน


ดนตรีพื้นบ้านภาคอีสาน

            ดนตรีพื้นบ้านภาคอีสานจะมีเอกลักษณ์โดดเด่นเฉพาะตัวโดย เกิดจากภูมิปัญญาของชนชาวอีสาน โดยลักษณะของเครื่องดนตรีจะเกิดขึ้นกับแต่ละท้องถิ่นไม่เหมือนกันและได้มีการนำมารวมวงกันเกิดขึ้น ซึ่งเป็นขอบเขตที่ชี้ลงไปอีกว่าสภาพภูมิประเทศภูมิอากาศแห้งแล้งหรืออุดมบรูณ์ โดยจะสังเกตเห็นได้จากการกำเนิดของเครื่องดนตรีแต่ละประเภท ตัวอย่างเช่น โหวด กำเนิดขึ้นที่จังหวัดร้อยเอ็ด ชี้ให้เห็นถึงความแห้งแล้ง เพราะเสียงของโหวดเมื่อได้ฟังแล้วจะรู้สึกถึงความรันทด หดหู่ใจ และสอดคล้องกับสภาพของดินฟ้าอากาศที่จังหวัดร้อยเอ็ด ซึ่งฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล สภาพดินแตกระแหงแห้งแล้ง อากาศมีความร้อนสูง ยากแก่การเพาะปลูก เป็นเหตุที่ทำให้เครื่องดนตรีมีเช่นนี้ คือ การเข้าไปหาอาหารในป่า หรือ การล่าสัตว์จึงนำเอาไม้ไผ่ชนิดบาง ๆ มาตัดมีความสั้นยาวที่แตกต่างกัน ทำให้เกิดเสียงสูงเสียงต่ำ และนำมาเล่นในยามที่ว่างจากงาน หรือยามที่ไม่ได้เก็บเกี่ยวอะไร


       ดนตรีพื้นบ้านอีสาน ซึ่งประกอบด้วย เครื่องดีด สี ตี เป่า ซึ่งสามารถจำแนกได้ดังนี้
1.เครื่องดีด ได้แก่ พิณ ไหซอง
2.เครื่องสี ได้แก่ ซออีสาน
3.เครื่องตี ได้แก่ โปงลาง กลองหาง
4.เครื่องเป่า ได้แก่ แคน โหวด
        ลักษณะของเครื่องดนตรีดังที่จำแนกข้างต้นนี้ ชาวอีสานได้นำมารวมวงและเล่นกัน ในยามว่างงาน และมีความสนุกสนานครื้นเครง ซึ่งเป็นการคลายเครียดอย่างหนึ่งของชาวอีสานที่ได้เสร็จจากการทำงาน


        วงโปงลาง เป็นวงที่รวมเอาเครื่องดนตรีทางภาคอีสานมารวมกันไว้ในวงเดียวกัน ซึ่งมี จังหวะ ท่วงทำนอง ลีลา และสีสัน ของเพลงที่แตกต่างกันออกไปจากวงดนตรีชนิดอื่น ๆ โดยมีสัญลักษณ์โปงลางเป็นเอกลักษณ์ และเรียกตามโปงลางว่า "วงโปงลาง” ปัจจุบันการเล่นดนตรีโปงลางเป็นอาชีพมีให้เห็นอย่างมากมายและแพร่หลาย โดยเกิดจากการที่ว่างจากการทำงานจึงได้รวมตัวกันและก่อตั้งวงกันขึ้นมา ซึ่งทำให้มีรายได้เพื่อเลี้ยงชีพและครอบครัวได้ไม่มากก็น้อย ผู้ที่เป็นพ่อและแม่ของชาวอีสานจึงได้เล็งเห็นความสำคัญของดนตรีพื้นบ้านนอีสาน จึงได้มีการส่งเสริมให้บุตรหลานของตนเข้าเรียนดนตรีและช่วยผ่อนผันค่าใช้จ่ายทางครอบครัวหลังจากที่เสร็จจากการทำไร่ ไถ่นา
แถบภาคอีสานมีการเรียนการสอนดนตรีโปงลางกันเกือบทุกจังหวัด ซึ่งเป็นผลดีต่อผู้ศึกษาและสนใจ ในปัจจุบันมีแหล่งศึกษาสำคัญ ๆ กันอยู่ 2 แห่งใหญ่ ๆด้วยกัน คือ วิทยาลัยนาฏศิลป์ร้อยเอ็ด และวิทยาลัยนาฏศิลป์กาฬสินธุ์ในปัจจุบัน วิทยาลัยนาฏศิลป์กาฬสินธุ์ได้ทำหน้าที่เป็นแหล่งอบรมสั่งสอนให้ ความรู้ด้านนาฏศิลป์ แก่กุลบุตรกุลธิดาของประชาชน ในจังหวัดกาฬสินธุ์และจังหวัดใกล้เคียง ดนตรีพื้นเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งโปงลางเป็นสาขาหนึ่งที่เน้นและส่งเสริมในเรื่องการเรียน การสอน และการอนุรักษ์เผยแพร่เก่าสาธารณะชนทั่วไป จนเป็นที่ยอมรับกันว่า ศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านอีสานเป็นที่รู้จักเป็นที่ชื่นชม และเป็นที่รักหวงแหนควรแก่การที่จะดำรงรักษาไว้ให้เป็นสมบัติของคนไทยทั้งชาติดังนั้น วงดนตรีโปงลางของวิทยาลัยนาฏศิลป์กาฬสินธุ์ จึงเป็นวงมาตรฐานที่คน ทั่วไปยอมรับว่าเป็นสิ่งที่เชิดหน้าชูตาของจังหวัด โดยจะเห็นได้จากการที่มีบุคคลสำคัญมาเยือนจังหวัดกาฬสินธุ์ ทางราชการก็จะจัดให้มีการแสดงวงดนตรีโปงลางของวิทยาลัยนาฏศิลป์กาฬสินธุ์ ให้คณะผู้มาเยือนได้ชมอยู่เสมอ สร้างความประทับใจเป็นอย่างยิ่ง และนอกจากนี้ 


         วงดนตรีโปงลางดังกล่าวยังได้เป็นตัวแทนของจังหวัดกาฬสินธุ์และของประเทศไทยไปแสดง   เผยแพร่ในต่างประเทศ มากมายหลายประเทศไม่ว่าจะเป็น ยุโรป เอเชีย และอเมริกา สร้างความ ชื่นชมให้ชาวต่างประเทศที่นิยมในการอนุรักษ์ดนตรีพื้นเมืองเป็นยิ่งนัก 
ด้วยเหตุนี้ผู้ศึกษาวิจัยสนใจที่จะศึกษาประวัติดนตรีพื้นบ้าน “วงโปงลาง : วิทยาลัยนาฏศิลป์กาฬสินธุ์” และชี้ให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างในสมัยอดีตกับสมัยปัจจุบันเพื่อวิเคราะห์ถึงการวิวัฒนาการทางดนตรีที่ดีขึ้น หรือถดถอยลงเพื่อเป็นแนวทางแก้ไขข้อดีและ ข้อเสียสำหรับการศึกษาและอนุรักษ์สืบต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น